- หน้าแรก
- หนังสือสำหรับเด็ก
- หอยชักตีน นักเดินทางตัวจิ๋ว
นักเขียน : กลุ่มละครมาหยา สโมสรลูกปูดำ, ระพีพรรณ พัฒนาเวช (เรียบเรียง)
นักภาพ : สกุณี ณัฐพูลวัฒน์
จัดพิมพ์และเผยแพร่ : แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน บริหารงานโดย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
ขณะวิกฤตโควิด-19 กำลังระบาด
มีข่าวที่น่ายินดีว่า ชาวบ้านแถบฝั่งทะเลอันดามัน
ชวนกันไปจับหอยชักตีนมาบริโภคและจำหน่ายได้ราคาดี
จากที่ก่อนหน้านี้ ด้วยรสชาติที่อร่อยและมีคุณค่าทางอาหารสูง
ทำให้ “หอยชักตีน” หรือ “หอยสังข์กระโดด” บ้างเรียกว่า “หอยสังข์ตีนเดียว”
ได้รับความนิยมอย่างมากในแหล่งท่องเที่ยว จึงมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว
ต่อมาได้มีการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์และขยายพันธุ์หอยชักตีนไปพร้อมๆ กับปกป้องแหล่งหญ้าทะเลและสาหร่าย
ซึ่งเป็นพื้นที่วางไข่และฟูมฟักชีวิต และร่วมรณรงค์ “ไม่จับ ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่กินหอยชักตีนที่เล็กกว่า 6 เซนติเมตร”
เพราะการรอดชีวิตของหอยชักตีนแต่ละตัวสามารถวางไข่ได้ตลอดปี ครั้งละกว่า 8หมื่นฟอง
แม้จะมีโอกาสรอดเพียง ร้อยละ 5 ก็ตาม
นิทานภาพ หอยชักตีน นักเดินทางตัวจิ๋ว เล่มนี้ เดินทางมาจากพื้นทรายและดินโคลนแห่งเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่
จากการท่องทะเลของกลุ่มละครมาหยา สโมสรลูกปูดำ ที่จูงมือแกนนำหัวกะทิ กลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านเกิด และนักเรียนในโรงเรียนของตำบลเกาะศรีบอยา ร่วมเปิดโลกการอ่านบนเกาะ
บรรยากาศการอ่าน ณ ที่นี้จึงเป็นการอ่านความงามแห่งวิถีชีวิต ภูมิวัฒนธรรม และธรรมชาติแวดล้อมที่เกื้อกูลกัน
หากเด็กๆ แดนไกล ได้สัมผัสเรื่องราวของนิทานเล่มนี้ เชื่อว่าคงกระหายใคร่รู้ ตั้งแต่ชื่อของหอยชักตีนที่ชวนน่าฉงน จินตนาการถึงชีวิตที่แวดล้อมด้วยทะเล ทั้งวันทั้งคืน
สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.