ลูกเล่นมือถือก่อนปฐมวัย เสียหายอย่างคาดไม่ถึง
พ่อแม่เป็นคนแรกที่หยิบยื่นแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพราะเข้าใจว่าจะทำให้ลูกฉลาดรอบรู้ไว ตรงกันข้าม การใช้จอเลี้ยงลูกเล็กส่งผลให้พัฒนาการเด็กแย่ลงทั้งด้านสติปัญญา การรู้คิด ภาษา พฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว ต่อต้าน นอนหลับยาก ฯลฯ
การให้ เวลาคุณภาพ (Quality time) กับลูก เป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก เวลาคุณภาพหมายถึงเวลาที่พ่อแม่จะได้แสดงความรักความเอาใจใส่ พูดคุย รับฟัง และทำกิจกรรมร่วมกันกับลูก โดยไม่ดูทีวี ไม่เล่นมือถือ
เว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยจึงเกิดขึ้นด้วยความต้องการที่จะให้คำแนะนำที่ถูกต้องในการเลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล และนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมการอ่านและกิจกรรมสานสัมพันธ์เพิ่มเวลาคุณภาพของครอบครัว การเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กจะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดเมื่อเด็กได้ใช้ภาษา ได้เคลื่อนไหว ปรับตัว เข้าสังคมกับคนรอบข้าง ได้มองตา รับรู้รสสัมผัสการกอดของพ่อแม่ ซึ่งจอสมาร์ทโฟนคงจะทำสิ่งเหล่านี้แทนไม่ได้
กุมารแพทย์ เตือน อย่าใช้จอเลี้ยงลูก
รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวเตือนพ่อแม่ผู้ปกครอง อย่าปล่อยให้จอเลี้ยงลูก เพราะการใช้สื่อหรือจอในการเลี้ยงลูก ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ล้วนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กทั้ง 4 ด้าน คือ
- ด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก และสติปัญญา โดยพบว่าเด็กที่ได้ใช้สื่อผ่านจอจำนวนมากตั้งแต่อายุน้อย เสี่ยงที่จะมีปัญหาในเรื่องนี้ แม้จะเปิดไว้เฉย ๆ แล้วคิดว่าลูกไม่ได้ดู แต่ขณะเดียวกันเด็กก็ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ แนวโน้มพัฒนาการในเรื่องนี้จะลดลง
- ด้านพฤติกรรม จะก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมออทิสติก คือ ดื้อ ต่อต้าน โลกส่วนตัวสูง สื่อสารกับคนอื่นน้อย แม้ดูเหมือนขณะใช้สื่อ เด็กจะนิ่ง แต่เมื่อขออุปกรณ์คืน เด็กจะไม่ยอม เกิดการดื้อรั้น แต่พบว่าถ้าลดการใช้สื่อผ่านหน้าจอของเด็กลง พฤติกรรมเด็กก็จะกลับมาปกติได้
- ทักษะการทำงานของสมองระดับสูงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรู้คิด การควบคุมตนเองจะแย่ลง การแก้ปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่ดี โดยหากใช้สื่อที่เปลี่ยนภาพหน้าจอเร็ว ๆ และขาดปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูก็จะมีปัญหาส่วนนี้มาก
- การนอนหลับยากขึ้น ระยะเวลาการนอนหลับลดลง ส่งผลต่อการจำและอารมณ์
“การใช้สื่อผ่านจอในการเลี้ยงเด็กเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเลย ในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่มีข้อมูลเชิงบวกว่าจะช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้แย่ลง ข้อแนะนำในการใช้สื่อกับเด็กเล็กอย่างเหมาะสม คือ เด็กอายุแรกเกิด – 2 ปี ต้องหลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอทุกชนิด เด็กอายุ 2 – 5 ปี ใช้หน้าจอกับพ่อแม่ด้วยสื่อคุณภาพไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้จะต้องปิดหน้าจอ และให้เด็กได้อยู่กับพ่อแม่เพื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน”
แต่การสื่อสารดังกล่าวดูเหมือนจะยังไม่ทั่วถึง ยังไม่สามารถสร้างความตระหนักในผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว การป้องกันการใช้และเสพติดสื่อจอ ตลอดจนปัญหาผลกระทบของสื่อต่อพัฒนาการตามช่วงวัยจำเป็นต้องเริ่มต้นที่ผู้ปกครอง ยังมีผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กจำนวนมากที่ยังคงเข้าใจผิดว่าสื่อและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็ก เข้าใจผิดว่าการใช้สื่อร่วมกันกับเด็กนั้นหมายถึงเพียงแค่การปรากฏตัวอยู่ด้วยกันในขณะที่เด็กใช้สื่อและเทคโนโลยี ทำให้ผู้ปกครองขาดความตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการใช้สื่อกับเด็ก การกำหนดระยะเวลาการใช้สื่อ การเลือกเนื้อหาที่เหมาะสม การตั้งคำถามหรือพูดคุยขณะใช้สื่อและเทคโนโลยี
งานวิจัย ชี้ เด็กปฐมวัยมากกว่าร้อยละ 60 ใช้จอ
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาความสามารถของผู้ปกครองในการกำกับดูแลการใช้สื่อและพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กอายุ 0 – 13 ปี รวมจำนวนทั้งสิ้น 200 ครอบครัว ในเขตจังหวัดนครปฐม (นนทสรวง กลีบผึ้ง, อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ และคณะ, 2563) พบสถานการณ์เสี่ยงในการใช้สื่อออนไลน์ กล่าวคือ แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างเด็ก 0 – 3 ปี จะยังไม่มีสื่อดิจิทัลเป็นของตนเอง แต่มีการเข้าถึงและใช้สื่อดิจิทัลมาแล้วเป็นเวลา 1 – 2 ปี
- เด็กส่วนใหญ่เริ่มใช้สื่อดิจิทัลเมื่ออายุระหว่าง 6 – 13 ปี (ร้อยละ 38.45) รองลงมาคือเริ่มใช้ระหว่างอายุ 0 – 2 ปี (ร้อยละ 85) และอายุ 3 – 5 ปี (ร้อยละ 28.70) ตามลำดับ
- เด็กส่วนใหญ่ใช้สื่อดิจิทัลครั้งแรกในขณะอยู่กับบิดาหรือมารดา (ร้อยละ 77.80)
- ผู้ปกครองให้บุตรหลานใช้สื่อดิจิทัล เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือไอแพด (ร้อยละ 89.60) โดยใช้สื่อดิจิทัลในขณะที่อยู่กับบุตรหลานเฉลี่ยวันละ 1 – 3 ชั่วโมง (ร้อยละ 75)
- ผู้ปกครอง 1 ใน 3 (ร้อยละ 30) บอกว่า ตนเองมีส่วนร่วมในขณะที่บุตรหลานใช้สื่อดิจิทัล
ทุกครั้ง แม้ว่าส่วนใหญ่จะระบุว่ามีการกําหนดกติกาในการใช้สื่อดิจิทัล (ร้อยละ 69.80) และเคยติดตามการใช้สื่อดิจิทัลของบุตรหลาน (ร้อยละ 71.30) - บางครอบครัว (ร้อยละ 10.90) บอกว่า มีเด็กเคยประสบอุบัติเหตุ เช่น ตกเตียง ตกบันได หกล้ม ระหว่างการใช้สื่อดิจิทัลของผู้ปกครอง
จากผลวิจัยที่แสดงถึงสถานการณ์และพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กอายุ 0 – 13 ปี ข้างต้น พบว่า เด็กสามารถเข้าถึงและเริ่มต้นใช้สื่อได้ภายในครอบครัว โดยใช้สื่อดิจิทัล ‘ครั้งแรก’ ในขณะที่อยู่กับบิดาหรือมารดา และมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ใช้สื่อดิจิทัลครั้งแรกในช่วงอายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งขัดแย้งกับคำแนะนำของกุมารแพทย์และนักวิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อ ที่เสนอแนะว่า ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการใช้สื่อและเทคโนโลยีในกลุ่มเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 2 ปี
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังระบุว่า เด็กมีพฤติกรรมหงุดหงิด ไม่พอใจ เมื่อถูกห้ามหรือถูกจำกัดเวลาการใช้สื่อดิจิทัล ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ขัดแย้ง การต่อว่าและการทำโทษเด็กในบางครอบครัว ผู้ปกครองของเด็กอายุ 0 – 2 ปี 11 เดือน (ร้อยละ 28.2) ให้ข้อมูลว่าตนเคยมีการโต้เถียง ขัดแย้ง หรือทะเลาะกันกับบุตรหลานเกี่ยวกับการใช้สื่อดิจิทัล บางครอบครัวจัดการปัญหาด้วยการอธิบายด้วยเหตุผล บางครอบครัวเลือกใช้วิธีการให้คำแนะนำหรือให้ความรู้ และในบางครอบครัวใช้วิธีการงดและยึดสื่อดิจิทัลจนกว่าเด็กจะทำตัวดีขึ้น
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องประยุกต์แนวทางและวิธีการอื่น ๆ ควบคู่กับการส่งเสริมและปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด ที่นอกเหนือจากการให้ความรู้ การอธิบายเชิงเหตุและผล หรือการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์และโทษของสื่อ แม้ผู้ปกครองจะตระหนักถึงในผลกระทบเชิงลบของสื่อหรือพอมีความรู้ความเข้าใจในแนวทางการใช้สื่อที่เหมาะสม ก็ยังขาดการตระหนักรู้เท่าทันจิตใจตนเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมการเลือก กำหนด ยับยั้งและกำกับการใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน และเป็นหัวใจแห่งความสำเร็จในการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อประเภทต่าง ๆ
กรมอนามัย แนะแนวการใช้สื่อจอ
กรมอนามัย มีข้อแนะนำการใช้สื่อกับเด็กเล็ก เนื่องจากทุกวันนี้ หลายครอบครัวมักจะเลี้ยงลูกโดยใช้เทคโนโลยีเป็นพี่เลี้ยง ปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อ เช่น มือถือ แท็บเล็ต หรือให้ดูทีวีทั้งวัน เพื่อให้เด็กสงบนิ่ง หรือหยุดร้องไห้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะยังไม่เหมาะกับวัย และอาจเป็นการปลูกฝังให้เด็กติดสื่อ ผลเสียคือทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า เด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ เนื่องจากสมองของเด็กจะพัฒนาสูงสุด ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมโดยรอบเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองในช่วงต้น หากปล่อยให้เด็กใกล้ชิดสื่อเหล่านี้มากเกินไปโดยไม่กำหนดเวลาดูหรือเลือกสื่อที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลเสียหลายด้าน คือ
- ด้านการสื่อสาร พูดช้า พูดไม่ชัด ขาดความคิดสร้างสรรค์ และ การจ้องมองจอภาพเป็นเวลานานจะส่งผลเสียกับดวงตาได้ เช่น ทำให้สายตาสั้น ดวงตาแห้ง
- ด้านร่างกาย จะไม่แข็งแรง เหนื่อยง่าย ขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็น หรืออาจส่งผลให้เป็นเด็กขี้เกียจได้
- ด้านอารมณ์ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เพราะเด็กแยกแยะโลกของอินเทอร์เน็ตกับความจริงไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ใจร้อน รอคอยไม่เป็น เด็กขาดสมาธิไม่จดจ่อหรือตั้งใจทำกิจกรรมใด
- ด้านพฤติกรรม จะก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก คือ ดื้อ ต่อต้าน โลกส่วนตัวสูง สื่อสารกับคนอื่นน้อย
พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้สื่อจอเพื่อให้เด็กสงบนิ่ง หรือหยุดร้องไห้ ถึงแม้ว่าจะเป็นการใช้แค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม เนื่องจากการใช้สื่อจออาจทำให้เด็กสงบได้จริง แต่นำมาซึ่งปัญหาการไม่สามารถจำกัดเวลาการเล่นได้ และที่สำคัญพ่อแม่หรือผู้ปกครองควรตระหนักถึง คือ ช่วงพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี ถือเป็นรากฐานของชีวิต พ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยมือถือ แล้วหันมาใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันในครอบครัว เพราะพัฒนาการที่ดีของเด็ก ๆ เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่ได้เรียนรู้ พาลูกเล่น เรียน ทำกิจกรรมร่วมกัน และไม่ลืมที่จะโอบกอดแสดงความรักระหว่างกันในครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้พัฒนาการต่าง ๆ ของเด็กได้ดีกว่าวิธีอื่น
การเล่นของเด็กจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาความฉลาดทางปัญญา อารมณ์ และสังคมไปพร้อม ๆ กัน เน้นการส่งเสริมกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟังในเด็กเล็ก เล่นบทบาทสมมติโดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว เล่นต่อเพลงหรือต่อนิทานคนละประโยค เล่นของเล่นอย่างอิสระ ออกไปสัมผัสธรรมชาติภายนอก นอกจากนั้น ควรฝึกให้ลูกรู้จักการสังเกต รู้จักตั้งคำถาม และคอยตอบคำถามของลูกด้วยความรักและความใส่ใจ ภายใต้บรรยากาศอันอบอุ่นและปลอดภัยของครอบครัว ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีควรทำตั้งแต่ในเด็กเล็ก เพื่อให้เกิดพฤติกรรมติดตัวที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพกายและจิต เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
แนวทางลดปัญหาหน้าจอของเด็ก
อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขับเคลื่อนนโยบายและสื่อสารสาธารณะ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง “ปัญหาหน้าจอกับเด็กในสังคมไทย” ว่า สิ่งที่ใหม่สำหรับเด็ก โดยเฉพาะวัยรุ่น ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นชีวิตในพื้นที่สาธารณะที่เกิดจากเทคโนโลยี วัยรุ่นมักโหยหาอยากเข้าถึงและเข้าใจพื้นที่สาธารณะ วัยรุ่นเสพติดสังคม–สัมพันธภาพและความสงสัยใคร่รู้ในโลกข่าวสาร เพื่อน คนดัง คนที่ชอบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเวลาที่ใช้ไปกับหน้าจอ/เทคโนโลยี จนเพิกเฉย ละเลยโลกความเป็นจริงทางกายภาพที่อยู่ตรงหน้า
ความเสี่ยงที่เด็กจะติดจอ/ติดเกม จะสูงขึ้น หาก
- พ่อแม่ไม่กำกับการใช้สื่อของบุตรหลานอย่างเคร่งครัด
- โรงเรียนกระตุ้น เร่งเร้าให้เด็กใช้สื่อเร็วเกินไปกว่าพัฒนาการตามวัย
- การใช้สื่อออนไลน์ได้กลายเป็นช่องทางหลักในการเรียนรู้
- การใช้สื่อของเด็ก ถูกใช้อย่างอิสระ ปราศจากการดูแล
- รัฐไม่มีมาตรการการกำกับเทคโนโลยี กำกับโอเปอร์เรเตอร์หรือผู้ให้บริการ
- ทุกภาคส่วนขาดการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็กควบคู่กันไป
สมองของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ควรถูกกระตุ้นด้วยเสียง สัมผัสของพ่อแม่ ดนตรีและการเล่น แต่เด็กที่เล่นโทรศัพท์มือถือมากเกินไป จะสูญเสียการเชื่อมต่อโครงข่ายใยประสาทในสมอง ส่งผลต่อการเพ่งสมาธิ ความสนใจ ความภูมิใจในตนเอง และบุคลิกลักษณะนิสัย
พ่อแม่ควรสำรวจตนเอง ทำลูกติดมือถือหรือไม่ โดยใช้ 5 ข้อต่อไปนี้ ในการสำรวจตนเอง
- เราใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเล่นมือถือ ตลอดเวลาที่อยู่กับลูกหรือเปล่า
- เราอ่านนิทาน ชวนลูกเล่น ออกกำลังกาย เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์หรือเปล่า
- เราหยิบยื่นโทรศัพท์มือถือให้ลูกเพื่อให้ลูกเงียบ นั่งนิ่ง ไม่ร้องงอแงหรือเปล่า
- เราใช้มือถือเป็นเงื่อนไข สิ่งจูงใจ รางวัล สิ่งตอบแทนความดี/ความเก่งให้กับลูกหรือเปล่า
- เราใช้เวลากับมือถือเพื่อความเป็นส่วนตัวของเรา แทนที่เราจะเล่นหรือคุยกับลูกหรือเปล่า
วิธีป้องกัน บาป 12 ประการจากสื่อออนไลน์
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เน้นย้ำพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสอนทักษะรู้เท่าทันสื่อ และความฉลาดทางดิจิทัล (DQ – Digital Intelligence Quotient) ให้บุตรหลาน กำหนดกฎกติกาในการใช้งานออนไลน์ มิเช่นนั้นอาจทำให้เกิด บาป 12 ประการจากสื่อออนไลน์ นั่นคือ เด็กเล็ก อาจทำให้ซน สมาธิสั้น สูญเสียทักษะทางสังคม ขาดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงและการลงมือทำ เด็กที่โตขึ้นในระดับประถม จะเริ่มเรียนรู้ความรุนแรงจากสื่อและเกม เสพติดเกม/อินเทอร์เน็ต ละเลยจากการเรียนและความรับผิดชอบ งานในหน้าที่ต่าง ๆ เนือยนิ่งติดจอไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น อาจทำให้เป็นโรคอ้วน เสียสายตา เด็กวัยรุ่นที่เริ่มสนใจเรื่องเพศ อาจตกเป็นเหยื่อของการล่อลวงและละเมิดทางเพศ การเลียนแบบค่านิยมที่ไม่เหมาะสม การกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ หรือ Cyber Bullying
ครอบครัวจึงควรสร้างจุดแข็งในการอยู่ร่วมกับเกม เทคโนโลยี หรืออุปกรณ์หน้าจอต่าง ๆ
ด้วยหลักปฏิบัติในครอบครัว 3 ต้อง 3 ไม่ ดังนี้
3 ต้อง ได้แก่
- ต้อง กำหนดเวลา(เช่น 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังทำการบ้าน/หน้าที่ ให้เรียบร้อยเสียก่อน)
- ต้อง กำหนดรายการให้ลูก(รายการ/กิจกรรมใดทำได้-ไม่ได้ เว็บไซต์แบบใดควร-ไม่ควรเข้า)
- ต้อง เล่นกับลูก(เพื่อมีเวลาชี้แนะถูกผิด การคิดวิเคราะห์ รู้เท่าทันข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ)
3 ไม่ ได้แก่
- ไม่ เป็นแบบอย่างที่ผิด
- ไม่ ใช้ในเวลาครอบครัว เช่น เวลาทานข้าวเวลาที่ครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกัน
- ไม่ ใช้ในห้องนอน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องกำหนดขอบเขตหรือพื้นที่เหล่านี้ภายในครอบครัว