เด็กรู้จักกลัวตั้งแต่เมื่อไร?
เด็กรู้จักกลัวตั้งแต่ขวบปีแรกแล้ว
ความกลัวอย่างแรก ๆ คือกลัวคนแปลกหน้า
มิใช่แมลง แมงมุม จิ้งจก หนู หรือผีอย่างที่เข้าใจกัน
ภาวะนี้เรียกว่า Stranger anxiety ซึ่งเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุประมาณ 6-8 เดือน
.
เด็ก ๆ จะกลัวแมลง แมงมุม จิ้งจก หนู หรือผี มากขึ้นตามอายุ
ขณะที่กลัวเรื่องอื่นๆ มากขึ้นแต่กลับกลัวคนแปลกหน้าน้อยลง
เรื่องผู้ร้ายที่คิดทำร้ายเด็กเป็นเรื่องน่ากลัวที่สุด
ไม่มีพ่อแม่คนไหนกล้าจินตนาการเรื่องแบบนี้
เพราะมันน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงมาก
เมื่อไม่จินตนาการหรือไม่คิดล่วงหน้าเสียแล้ว
หลายครั้งจึงไม่เตรียมรับมือหรือสอนลูกหลาน
ที่เป็นเช่นนี้เนื่องด้วยเหตุผล 2 ข้อ
ข้อแรกคือ เพ้อฝันเอาเองว่าเรื่องเลวร้ายจะไม่เกิดกับลูกของตนข้อสองคือ เกรงว่าจะขู่ขวัญเด็กมากเกินไป
เมื่อทราบแล้วว่าเด็กรู้จักกลัวคนแปลกหน้าตั้งแต่ขวบปีแรก
พ่อแม่ก็ควรจะสอนลูกให้รับมือผู้ร้ายเสียที
โดยไม่ต้องกังวลว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเด็ก
หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นเครื่องมือที่ดี
ช่วยดึงพ่อแม่และลูกมาคุยกันถึงวิธีระมัดระวังตัวเวลาอยู่นอกบ้าน
หรือเมื่อพบคนแปลกหน้า อาจให้ลูกอ่านก่อนแล้วหาเวลาคุยด้วยวันหลัง
หรืออ่านให้ลูกฟังแล้วคุยกัน

ประเด็นสำคัญคือต้องคุยกัน ไม่อยากให้ซื้อหนังสือให้ลูกอ่านแล้วตัวใครตัวมัน
มีความรู้หลายข้อที่พ่อแม่หลายท่านอาจคิดไม่ถึง
เช่น เวลาคนแปลกหน้าจอดรถถามทาง เด็กควรยืนห่างจากรถเท่าไร
หรือเวลาใช้ลิฟต์แล้วมีคนแปลกหน้าท่าทางไม่น่าไว้ใจเดินตามเข้าไปด้วย ควรทำอย่างไร

สิ่งเหล่านี้มิใช่คำแนะนำสำหรับเด็กๆ เท่านั้น
แต่ยังมีประโยชน์ต่อผู้หญิง หรือแม้กระทั่ง ทุก ๆ คน
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศสำหรับสอนเด็กๆ ด้วย
ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก
เป็นปัญหาในบ้านเราเพราะไม่ค่อยมีใครยอมสอน
คงเพราะยังถือคติว่าไม่ควรสอนเรื่องเพศใด ๆ ให้แก่เด็ก หรือพ่อแม่เองไม่รู้จะสอนอย่างไร
แต่ที่ถูกที่ควรแล้ว พ่อแม่ต้องสอนเรื่องเพศแก่ลูกเป็นระยะ ๆ ตามแต่โอกาสอำนวย
และให้เหมาะสมกับอายุของเด็ก

เน้นย้ำให้ชัดเจนว่า “พื้นที่หวงห้าม” ไม่อนุญาตให้ใครมาแตะคือบริเวณไหน
เตือนสติว่าการล่วงละเมิดทางเพศนั้นส่วนใหญ่มักเกิดจากคนรู้จักด้วยซ้ำ
ถ้าหากยังไม่กล้าสอนก็ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม
สิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญคือการพูดคุยกันหลังอ่านจบแล้ว
เพราะช่วยให้เด็กเกิด “กระบวนการเรียนรู้” รู้จักวิเคราะห์ด้วยตนเอง
จนเกิดความคิดรวบยอดซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ได้
เราไม่ควรปล่อยให้หนังสือการ์ตูนความรู้เป็นเพียง “การมอบความรู้”
แบบที่การศึกษาของประเทศไทยทำอยู่ นั่นคือให้ความรู้ไปเรื่อย ๆ ทีละวิชา
โดยไม่จัดกระบวนการเรียนรู้
การมอบความรู้เป็นก้อนๆ เด็กอาจได้เพียงครึ่งหนึ่งหรือน้อยกว่า
แต่ถ้าจัดกระบวนการเรียนรู้เด็กจะขยายความรู้นั้นและจินตนาการได้ด้วยตนเองอย่างคาดไม่ถึง
หนังสือการ์ตูนความรู้ที่ดีจึงไม่ควรดีเพียงเนื้อหาแต่ควรใช้เป็นสื่อการสอนที่พ่อแม่หรือครูจะนำไปใช้พูดคุยหรือจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ ด้วย
.